image alt image alt

บทความ

ขยะในทะเลไทยเป็นอันตรายเเค่ไหนต่อสัตว์น้ำ

ขยะในทะเลไทยเป็นอันตรายเเค่ไหนต่อสัตว์น้ำ

ขยะในทะเลเกิดขึ้นได้ง่าย แต่กว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลาหลายปี อีกทั้งยังสร้างปัญหามากมาย มาดูกันว่าขยะแต่ละชนิดใช้เวลาย่อยสลายกี่ปี แล้วส่งผลกระทบอย่างไร พวกเราจะช่วยไม่ให้เกิดขยะในทะเลได้อย่างไรบ้าง ?

ขยะทะเลไทย

 

จากสถานการณ์ขยะที่กรมควบคุมมลพิษออกสำรวจเมื่อปี 2561 พบว่าในแต่ละวันมีขยะเกิดขึ้น 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขยะเกิดขึ้นง่ายมาก แต่การทำลายเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากขยะแต่ละชิ้นจะใช้เวลาในการย่อยสลายนานแล้ว ยังสร้างมลพิษ เช่น ก๊าซมีเทน ในกระบวนการกำจัดที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย โดยเฉพาะขยะพลาสติกและโฟมในทะเล ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำตายมากมาย อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศ เช่น แนวปะการัง ฉะนั้นก่อนที่จะสายเกินแก้ มาดูกันว่าขยะแต่ละชนิดที่เกิดจากน้ำมือเราใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะย่อยสลาย แล้วส่งผลกระทบกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง 

เกิดง่าย กำจัดยาก ที่มาปัญหาขยะล้นเมืองสู่ทะเลไทย

ขยะทะเล

 

จากการเก็บข้อมูลของกรมควบคุมพลพิษปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้นำกลับไปใช้ประโยชน์หรือมักจะตกค้างอยู่ตามชุมชน อีกทั้งสร้างมลพิษ เช่น สารไดออกซิน หากนำไปกำจัดผิดวิธีและเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ในระบบที่ไม่มีตัวช่วยกำจัดสารชนิดนี้อีกด้วย และส่งผลให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของคน สัตว์ และปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 

 

ที่มาขยะพลาสติกในทะเลไทย

จากการสำรวจข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะ 27.8 ล้านตัน คิดเป็น 71,764 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้มีขยะจำนวน 7.36 ล้านตัน ที่ถูกนำไปกำจัดไม่ถูกต้องและไหลลงสู่ทะเล เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของขยะทะเล พบว่า สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมบนบก 80% เช่น มาจากบ้านเรือนหรือชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด ส่วนอีก 20% มาจากกิจกรรมทางทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การทำการประมงในทะเลจากเรือพาณิชย์หรือเรือประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล 

ตารางอันดับขยะในทะเลไทย

 

ข้อมูลจาก 10 อันดับขยะทะเลไทยปี 2561 จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นอกจากนี้ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2561 ระบุว่า 10 อันดับขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทย เช่น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กล่องโฟม เชือก หลอดดูด ถุงใส่อาหาร และฝาขวดน้ำ ซึ่งขยะเหล่านี้นอกจากจะใช้เวลาย่อยสลายนาน บางชนิดก็ย่อยสลายเองตามธรรมชาติไม่ได้ แล้วยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเน่เสีย ทำให้สัตวน้ำเสียชีวิต และยังทำให้เกิดไมโครพลาสติก (Microplastic) อีกด้วย

จากขยะสู่ปัญหาไมโครพลาสติก

ถุงพลาสติกในทะเล

 

ไมโครพลาสติก ตามคำนิยามจากองค์กรองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) คือ เศษพลาสติกขนาดเล็ก ตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร ถึง 1 นาโนเมตร หรือเรียกได้ว่า ตั้งแต่ระดับเล็กจิ๋วถึงระดับที่สายตามองไม่เห็น ซึ่งอาจจะมาจากกระบวนการผลิตโดยตรง เช่น เม็ดสครับหรือไมโครบีดส์ที่อยู่ในเครื่องสำอาง หรืออาจจะมาจากการฉีกขาด แตกหัก และย่อยสลายของพลาสติกขนาดใหญ่ จนกลายเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็กก็ได้ ฉะนั้นยิ่งมีขยะพลาสติกลอยอยู่ในทะเลนานและมากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้เกิดไมโครพลาสติกในทะเลเพิ่มและมากขึ้นเท่านั้น

อันตรายของไมโครพลาสติก

เต่ากินถุงพลาสติก

 

เนื่องจากทุกวันนี้มีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลค่อนข้างมาก จึงทำให้พลาสติกสลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกเยอะ เป็นอันตรายกับระบบนิเวศ สัตว์น้ำ รวมถึงคน เนื่องจากมีความหนาแน่นต่ำ จึงลอยตัวอยู่เหนือน้ำ ปะปนกับแพลงก์ตอน และกลายเป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่น เมื่อคนนำสัตว์ทะเลมากินก็เท่ากับว่ารับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย และเป็นอันตรายกับสุขภาพเพราะร่างกายไม่สามารถย่อยได้ อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะได้รับสารปนเปื้อนอีกด้วย 

 

วิธีจัดการขยะก่อนลงทะเล

 

 

เราทุกคนก็สามารถลดและป้องกันไม่ให้เกิดขยะในทะเลและไมโครพลาสติกได้ ด้วยการคัดแยกขยะ และนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือกำจัดให้ถูกวิธี ลดการผลิตไมโครพลาสติก พร้อมทั้งลดการใช้พลาสติกชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยกำจัดต้นตอของไมโครพลาสติก หลีกเลี่ยงการทิ้งขยะพลาสติกและขยะต่าง ๆ ลงทะเล โดยพยายามนำกลับไปรีไซเคิล หรือนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยลดการสะสมและตกค้าง สร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้คนรอบตัวหันมาใช้พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้หรือวัสดุจากธรรมชาติกันมากขึ้น รวมถึงการปฏิบัติตามหลักจัดการขยะ 7R คือ Refuse (ปฏิเสธการใช้) Refill (การใช้สินค้าที่เติมได้) Return (การหมุนเวียนมาใช้ใหม่) Repair (การซ่อมแซม) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) และ Reduce (การลดการใช้) เพื่อช่วยลดปริมาณขยะตั้งแต่บนบกนั่นเอง

7R วิธีลดขยะง่าย ๆ ทางรอดลดโลกร้อนที่ทุกคนทำได้

ถ้าหากสังเกตระยะเวลาในการย่อยสลายของขยะแต่ละชนิด จะเห็นได้ว่าการสร้างขยะเป็นเรื่องง่าย แต่การกำจัดเป็นเรื่องยาก อีกทั้งขยะในทะเลที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบทั้งระบบนิเวศ สัตว์น้ำ และคน ฉะนั้นทางที่ดีเราควรแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ด้วยการลด คัดแยก และกำจัดขยะอย่างถูกต้อง รับรองเพียงแค่ช่วยกันคนละไม้ละมือ ก็จะทำให้ทะเลกลับมาสวยงาม สะอาด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 
โครงการพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม ระยอง

กกพ.

 

ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562

ขอบคุณที่มาhttps://erc.kapook.com/article17.php